บทความ เกี่ยวกับไม้สัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Tectona grandis L.f.
ไม้สัก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว (ส่วนที่ติดภาคเหนือของไทย) และ อินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยนั้น ไม้สักจะขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลางและเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี ไม้สัก ชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือตามพื้นราบแต่ดินระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง ซึ่งอาจจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีความลึกมาก ๆ โดยเฉพาะดินที่ เกิดจากหินปูน ซึ่งแตกแยกผุพังจนกลายเป็นดินร่วนลึก ไม้สักจะเจริญเติบโตดีมากไม้สัก มักขึ้นอยู่เป็นกลุ่มไม้สักล้วน ๆ เป็นหย่อม ๆ หรืออาจขึ้นปะปนอยู่กับไม้เบญจพรรณอื่น ๆเช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ มะค่าโมง ชิงชัน ตะแบก ฯลฯ โดยมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ เป็นไม้ชั้นล่าง
ประโยชน์
-----------------------------------------------------------------------
ในด้านการใช้ประโยชน์ไม้สัก ได้มีการแบ่งคุณลักษณะของไม้สักโดยพิจารณา จากสี ของเนื้อไม้ การตกแต่ง ความแข็ง ความเหนียวของเนื้อไม้ออกเป็น 5 ชนิด คือ
สักทอง - เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง เสี้ยนตรง ตกแต่งง่าย
สักหิน - เนื้อไม้สีน้ำตาลหรือสีจาง ตกแต่งง่าย
สักหยวก - เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน หรือสีจาง ตกแต่งง่าย
สักไข่ - เนื้อไม้สีน้ำตาลเข้มปนเหลือง มีไขปนยากแก่การตกแต่งและทาสี
สักขี้ควาย - เนื้อไม้สีเขียวปนน้ำตาล น้ำตาลดำ ดูเป็นสีเลอะ ๆ
ซึ่งลักษณะความแตกต่างของเนื้อไม้ดังกล่าวนี้เป็นเพียงประสบการณ์ของผู้ทำไม้ เท่านั้นยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีผลมาจากพันธุกรรม หรือเกิดจากสภาพแวดล้อม ที่มันขึ้นอยู่ เช่นชนิดของป่า ดิน หิน ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ
เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่งและชักเงา ได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบ ทำลายเพระมีสารพวกเตคโตคริโนน
ชนิดของไม้สัก
-----------------------------------------------------------------------
- 1. สักทอง ขึ้นในป่าโปร่งชื้นไกลห้วยหรือแล้ง แต่ใกล้ห้วยดินค่อนข้างสมบูรณ์การแตกของเปลือกเช่นเดียวกับสักหยวก แต่อยู่ในที่ที่แห้งชื้นไปบ้างเท่านั้น เรือนยอดสมบูรณ์ใบมีขนาดปานกลาง เนื้อไม้จะเป็นเส้นตรงผ่าง่าย มีความแข็งกว่าสักหยวก สีเข้ม เป็นสีน้ำตาลเหลืองหรือที่เรียกกันว่า สีทอง
- 2. สักหยวก ขึ้นในป่าโปร่งชื้นริมห้วย ต้นตรงเปลือกแตกเป็นร่องแต่ยาวตรงร่องของเปลือกไม้สักหยวกจะกว้างกว่า ไม้สักทอง เรือนยอดสมบูรณ์ ใบขนาดกลาง เนื้อไม้หรือแก่นจะมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ถากหรือฟันง่าย
- 3. สักไข ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งแล้งเป็นส่วนมาก ความเจริญเติบโตดูช้า ร่องของเปลือกลึกและตัวเปลือกเป็นสันกว้าง ระหว่างร่องลำต้นตรงเปลา แต่มีลักษณะแกร็นๆ พุ่มของเรือนยอดบอบบางแต่ก็มีใบเต็ม จะทราบว่าเป็นสักไขก็ต่อเมื่อถึงมือช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะมีใขปนยากแก่การขัด และการทาแชลแลคหรือแลกเกอร์ สีของไม้สักไขจะเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง
- 4. สักหิน ไม้สักพวกนี้จะอยู่ในป่าโปร่งแล้งในระดับสูง การแตกของเปลือกเป็นร่องลึก และเรือนยอดดูไม่ค่อยแข็งแรง ใบเล็กกว่าปกติจะทราบได้แน่นอนเมื่อมีการโค่นล้มหรือตบแต่ง โดยพวกโค่นล้มเลื่อยและช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะแข็งกว่าไม้สัก ทั่วไปและเปราะสีของเนื้อไม้สักเป็นสีน้ำตาลเข้ม
- 5. สักขี้ควาย ไม้สักพวกนี้จะเกิดอยู่ในที่ค่อนข้างแล้ง ในป่าผลัดใบต่างๆ และมักจะอยู่ในบริเวณรอยต่อของป่าโปร่ง ผลัดใบและป่าแพะ ลักษณะของเรือนยอดมักจะไม่สมบูรณ์ลำต้นจะตายบ้าง กิ่งบนเรือนยอดแห้งตายไปบ้างกิ่งสองกิ่ง ลักษณะของ เปลือกแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ และร่องลึก จะทราบได้ชัดก็เมื่อโค่นลงมาเลื่อยดู จะเห็นได้ชัดว่าเนื้อไม้มีสีเขียวปน น้ำตาล น้ำตาลแก่ น้ำตาลอ่อน ปนกันดูเป็นสีเลอะๆ
คุณสมบัติบางประการ
-----------------------------------------------------------------------
ไม้สัก ปลวกและมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อ O-cresyl methyl ether สารเคมีชนิดนี้ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ของกรมป่าไม้ มีคุณสมบัติ เมื่อทาหรืออาบไม้แล้วไม้จะมีความคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็ดราได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ในไม้สักทอง ยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm. (ไม้สักทอง 26 ต้น มีทองคำหนัก 1 บาท)
ไม้สัก เป็นไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้ จากการทดลองตามหลักวิชาการไม้สักมีความแข็งแรงสูงกว่า 1,000 กก./ตร.ซม. และมีความทนทานตามธรรมชาติ จากการทดลองนำส่วนที่เป็นแก่นของไม้สักไปทดลองปักดิน ปรากฏว่า มีความทนทานตามธรรมชาติเกินกว่า 10 ปี (ระหว่าง 11-18 ปี)